Update
recent

ประเพณีงานบุญต่างๆ และวัฒนธรรม จ.มุกดาหาร


ชาวอีสานนั้นส่วนมากล้วนเกิดความเชื่อ ความศรัทธา และความกตัญญู ไม่ว่าจะเป็นเชื่อในเรื่องภูติผี ต่างๆ ผีเจ้าผีเรือน ผีบรรพบุรุษ หรือผีเฝ้าสถานที่ หรือเจ้าที่ต่างๆ ก่อนที่จะทำอะไรที่เกี่ยวข้องกับสถานที่แห่งนั้น หรือเกี่ยวกับสิ่งนั้น ชาวอีสานระลึกเสมอว่าจะต้องบอกกล่าว ขอขมาลาโทษ ก่อนที่จะกระทำสิ่งนั้น หรือสถานที่นั้นลงไป

สำหรับงานประเพณีและวัฒนธรรมต่างๆ นั้นก็ได้แยกออกมาแต่ละเดือน ซึ่งแต่ละเดือนก็อาจจะมีความเกี่ยวข้องในเรื่องความเชื่อ ตลอดทั้งเกี่ยวกับศาสนา ฤดูกาล ซึ่งแบ่งออกได้ดังนี้

เดือน 1 หรือเดือนอ้าย บุญเข้ากรรม


ได้มีบทพญาที่กล่าวถึงบุญประจำเดือนนี้ว่า... ตกฤดูเดือนอ้ายปลายลมมาสิหนาวหน่วง ตกหว่างช่วงสังโฆเจ้าเพิ่นเข้ากรรม เฮามาพากันค้ำทำบุญตักบาตร ปริวาสซ่อยหยู้ซูค้ำศาสนา


การเข้ากรรม คือ การอยู่ปริวาสกรรมของภิกษุผู้ต้องอาบัติสังฆาทิเสส ซึ่งเรื่องของการอาบัตินี้เป็นเรื่องของพระที่ล่วงละเมิดพระวินัยหรือศีลแล้วเกิดโทษหรือความผิด ทีนี้เมื่อเกิดโทษแล้วก็ต้องมีการลงโทษอันเป็นเรื่องธรรมดาของการอยู่ร่วมกันในสังคม ต้องมีขอบเขตของสังคม หรือกฎระเบียบต่างๆ ที่สังคมนั้นๆ บัญญัติขึ้น เพื่อเป็นการป้องกันรักษาคนหมู่มากหรือสังคมส่วนรวม ไม่ให้เกิดความเสียหายต่อระบบของสังคม

เดือน 2 หรือเดือนยี่ บุญคูนลาน บุญกุ้มข้าวใหญ่





เป็นการทำบุญเพื่อรับขวัญข้าว เมื่อถึงเดือนยี่ คือ เดือนมกราคมของทุกปี หลังจากเก็บเกี่ยวข้าวเสร็จ ชาวบ้านจะขนเอามัดรวงข้าวที่เกี่ยวเสร็จแล้วนั้นไปกองรวมกันไว้ที่ลานเก็บข้าว มีความเชื่อว่าข้าวนั้นเป็นพืชเลี้ยงชีวิตที่มีเทพารักษา เทพองค์นั้นมีนามว่า "แม่โพสพ" ซึ่งเป็นขวัญข้าวที่เลี้ยงมนุษย์มา การทำบุญมีพระสวดมนต์เย็น ฉันเช้า เพื่อเป็นสิริมงคลแก่ข้าวเปลือก เมื่อพระฉันเช้าแล้วก็ทำพิธีสู่ขวัญข้าว และผูกข้อต่อแขนกันในหมู่ชาวบ้านผู้ร่วมพิธี

เดือน 3 หรือเดือนสาม บุญข้าวจี่ บุญมาฆบูชา



ในวันเพ็ญเดือนสามให้ทำบุญข้าวจี่และบุญมาฆบูชา เริ่มพิธีทำบุญข้าวจี่ในตอนเช้า โดยใช้ข้าวเหนียวปั้นเป็นก้อน ขนาดเท่ากำปั้นแล้ว ใช้ไม้ไผ่ที่เหลากลมๆ เสียบตรงกลาง ตามยาวของปั้นข้าวเหนียวแล้วนำไปปิ้งพอเกรียมแล้วชุบด้วยไข่ ย่างไฟจนสุก ใส่ภาชนะไปตั้งใว้ในศาลาวัด นิมนต์พระมาให้ศีลให้พร แล้วเอาข้าวจี่ใส่บาตร นำถวายแด่พระสงฆ์พร้อมด้วยอาหารอื่นๆ เมื่อพระฉันเสร็จแล้วมีการแสดงพระธรรมเทศนา ตอนเย็นมีการเวียนเทียนมาฆบูชาฟังเทศน์ที่วัด

เดือน 4 หรือเดือนสี่ บุญผะเหวด หรือ บุญพระเวส (เวสสันดร)



"บุญผะเหวด" เป็นสําเนียงชาวอีสานที่มาจากคําว่า "บุญพระเวส" หรือพระเวสสันดร เป็นประเพณีตามคติความเชื่อของชาวอีสานที่ว่า หากผู้ใดได้ฟังเทศน์เรื่องพระเวสสันดรทั้ง 13 กัณฑ์จบภายในวันเดียว จะได้เกิดร่วมชาติภพกับพระศรีอริยเมตไตย บุญผะเหวดนี้ จะทําติดต่อกันสามวัน
  • วันแรกจัดเตรียมสถานที่ตกแต่ง ศาลาการเปรียญ
  • วันที่สองเป็นวันเฉลิมฉลองพระเวสสันดร ชาวบ้านร่วมทั้งพระภิกษุสงฆ์จากหมู่บ้านใกล้เคียงจะมา ร่วมพิธีมีทั้งการจัดขบวนแห่เครื่องไทยทานฟังเทศน์และแห่พระเวส โดยการแห่ผ้าผะเหวด (ผ้าผืนยาวเขียนภาพเล่าเรื่องพระเวสสันดร) ซึ่งสมมติเป็นการแห่พระเวสสันดรเข้าสู่เมือง เมื่อถึงเวลาค่ำจะมีเทศน์เรื่องพระมาลัย
  • วันที่สามเป็นงานบุญพิธี ชาวบ้านจะร่วมกันตักบาตรข้าวพันก้อน พิธีจะมี ไปจนค่ำชาวบ้านจะแห่แหน ฟ้อนรําตั้งขบวนเรียงรายตั้งกัณฑ์มาถวายอานิสงฆ์อีกกัณฑ์หนึ่ง จึงเสร็จพิธมูลเหตุของพิธีกรรม
พระสงฆ์จะเทศน์เรื่อง เวสสันดรชาดกจนจบและเทศน์ จากเรื่องในหนังสือมาไลยหมื่นมาไลยแสนกล่าวว่า ครั้งหนึ่งพระมาลัยเถระได้ขึ้นไปไหว้พระธาตุเกษแก้วจุฬามณี บนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์และได้พบปะสนทนากับพระศรีอริยเมนไตย ผู้ที่จะมาเป็นพระพุทธเจ้าในอนาคตและพระศรีอริยเมตไตยได้สั่งความมากับ พระมาลัยว่า "ถ้ามนุษย์อยากจะพบและร่วมเกิดในศาสนาของพระองค์แล้วจะต้องปฏิบัติตนดังต่อไปนี้คือ"

1. จงอย่าฆ่าพ่อตีแม่ สมณพราหมณ์
2. จงอย่าทําร้ายพระพุทธเจ้า และยุยงให้สงฆ์แตกแยกกัน
3. ให้ตั้งใจฟังเทศน์เรื่อง พระเวสสันดรให้จบในวันเดียวด้วยเหตุ ที่ชาวอีสานต้องการจะได้พบพระศรีอริยเมตไตยและเกิดร่วมศาสนาของพระองค์จึง มีการทําบุญผะเหวด ซึ่งเป็นประจําทุกปี

เดือน 5 หรือเดือนห้า บุญสงกรานต์



บุญสงกรานต์ ตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำเดือน 5 มีพิธีการทำบุญตักบาตร ทำบุญสรงน้ำพระ และรดน้ำผู้ใหญ่ โดยการนำเอาน้ำอบ น้ำหอม ไปสรงพระพุทธรูป พระภิกษุสงฆ์ และรดน้ำผู้เฒ่า ผู้แก่ ปู่ ย่า ตา ยาย บิดา และมารดา ตลอดทั้งบุคคลที่เราเคารพนับถือ เพื่อขอให้มีความเป็นอยู่ร่มเย็นเป็นสุข จะปรารถนาสิ่งใดขอให้ได้สมหวัง เช่น ขอน้ำขอฝน ขอให้ตกต้องตามฤดูกาล และให้ข้าว น้ำ ปลา อุดมสมบูรณ์ และในเดือนนี้ถือว่าเป็นวันขึ้นปีใหม่ของชาวอีสาน โดยถือเอาวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 5 เป็นวันเริ่มต้นทำบุญ

เดือน 6 หรือเดือนหก บุญบั้งไฟ



เป็นประเพณีหนึ่งของภาคอีสานของไทยรวมไปถึงลาว โดยมีตำนานมาจากนิทานพื้นบ้านของภาคอีสานเรื่องพระยาคันคาก เรื่องผาแดงนางไอ่ ซึ่งในนิทางพื้นบ้านดังกล่าวได้กล่าวถึง การที่ชาวบ้านได้จัดงานบุญบั้งไฟขึ้นเพื่อเป็นการบูชา พระยาแถน หรือเทพวัสสกาลเทพบุตร ซึ่ง ชาวบ้านมีความเชื่อว่า พระยาแถนมีหน้าที่คอยดูแลให้ฝนตกถูกต้องตามฤดูกาล และมีความชื่นชอบไฟเป็นอย่างมาก หากหมู่บ้านใดไม่จัดทำการจัดงานบุญบั้งไฟบูชา ฝนก็จะไม่ตกถูกต้องตามฤดูกาล อาจก่อให้เกิดภัยพิบัติกับหมู่บ้านได้ ช่วงเวลาของประเพณีบุญบั้งไฟคือเดือนหกหรือพฤษภาคมของทุกปี

เดือน 7 เดือนเจ็ด บุญซำฮะเลี้ยงมเหศักดิ์หลักเมือง



บุญซำฮะเป็นการทำบุญเดือนเจ็ดจึงมีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “บุญเดือนเจ็ด” คำว่า “ซำฮะ” หมายถึงชำระ คือ ทำให้สะอาดปราศจากมลทินโทษ ความสกปรกแบ่งเป็น 2 อย่าง คือ ความสกปรกภายใน ได้แก่ จิตใจ เกิดความโลภ โกรธ หลง เป็นต้น สิ่งที่จะชำระอีกอย่างหนึ่งที่มีอิทธิพลต่อสภาพความเป็นอยู่ชีวิตจิตใจเพราะมีสิ่งเลวร้าย ทำให้เกิดล้มตายทั้งคนสัตว์ตลอดถึงพืชผลเสียหายในหมู่บ้าน หรือบ้านเมืองที่มี ผีเข้า เจ้าสูน ทำให้เดือดร้อนชะตาบ้านเมืองจะต้องชำระให้หายเสนียดจัญไรการทำบุญซำฮะบะเบิกได้มีมาก่อนที่พระพุทธศาสนาจะแพร่กระจายเข้ามาสู่ดินแดนลาวและอีสาน

เดือน 8 เดือนแปด บุญเข้าพรรษา



หรือบุญเดือนแปด ตรงกับวันแรม 1 ค่ำ เดือน 8 วันเข้าพรรษาเป็นวันสำคัญทางพุทธศาสนา เป็นวันที่พระพุทธเจ้าประกาศพระศาสนาทรงแสดงธรรมจักรกัปปวัฒนธสูตร โปรดปัญจวัคคีย์ ทำให้มีพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เกิดขึ้นเป็นครั้งแรก เรียกวันนี้ว่า วันอาสาฬหบูชา การเข้าพรรษา หมายถึงการที่พระภิกษุอธิษฐานที่จะอยู่ประจำ ณ วัดใด วัดหนึ่งเพื่อปฏิบัติธรรมเป็นเวลา 3 เดือน โดยไม่ไปค้างแรมที่อื่น เว้นแต่จะถือสัตตาหะตามพุทธบัญญัติ


เดือน 9 เดือนเก้า บุญข้าวประดับดิน



บุญข้าวประดับดิน คือ บุญที่ทำในวันแรม 14 ค่ำ เดือน 9 (ประมาณเดือนสิงหาคม) เป็นการนำข้าวปลา อาหาร คาวหวาน ผลไม้ หมาก พลู บุหรี่ อย่างละเล็ก อย่างละน้อย แล้วห่อด้วยใบตองทำเป็นห่อเล็กๆ นำไปวางตามโคนต้นไม้ใหญ่ หรือตามพื้นดินบริเวณรอบๆ เจดีย์หรือโบสถ์ เป็นการทำบุญที่ชาวบ้าน จัดขึ้นเพื่ออุทิศส่วนกุศลให้แก่ผู้ล่วงลับไปแล้ว

เดือน 10 เดือนสิบ บุญข้าวสาก




บุญข้าวสาก หมายถึงบุญที่ให้พระเณรทั้งวัด จับสลากเพื่อจะรับปัจจัยไทยทาน ตลอดจนสำรับกับข้าว ที่ญาติโยมนำมาถวายและบุญนี้จะทำกันในวันเพ็ญเดือนสิบ จึงเรียกชื่ออีกอย่างว่า "บุญเดือนสิบ" มูลเหตุที่ทำ เพื่อจะทำให้ข้าวในนาที่ปักดำไปนั้นงอกงาม และได้ผลบริบูรณ์ และเป็นการอุทิศส่วนกุศลถึงญาติผู้ล่วงลับไปแล้ว

เดือน 11 เดือนสิบเอ็ด บุญออกพรรษา





บุญเดือนสิบเอ็ด บุญออกพรรษาเป็นงานบุญที่จัดทำขึ้นในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 ของทุกปี เรียกงานบุญนี้ว่า บุญเดือน 11 หรือ บุญออกพรรษา นับเป็นฮีตที่ 11 ของชาวไทยอีสาน มูลเหตุที่ทำ เพื่อให้พระสงฆ์สามารถออกจากวัด ไปพักแรมที่อื่นได้เพื่อเปิดโอกาสให้พระภิกษุได้มีโอกาสว่ากล่าวตักเตือนกันให้พระภิกษุสงฆ์ได้เที่ยวอบรมศีลธรรมและบวชให้ลูกหลานสืบต่ออายุพระพุทธศาสนา ให้พระภิกษุได้ไปเยี่ยมบิดา มารดา และญาติพี่น้องได้เนื่องจากช่วงเข้าพรรษาไม่สามารถออกจากวัดไปค้างแรมที่อื่นวันออกพรรษานับเป็นวันสิ้นสุดของการ จำพรรษาของภิกษุสามเณรที่จำพรรษาในช่วง 3 เดือน

เดือน 12 เดือนสิบสอง บุญกฐิน




ประเพณีบุญกฐิน คือ งานบุญถวายผ้าไตรจีวรแด่พระสงฆ์ โดยเริ่มตั้งแต่วันแรม 1 ค่ำ เดือน 11 ถึงวันที่ 15 ค่ำ เดือน 12 มูลเหตุการทำบุญกฐิน สืบเนื่องมาจากว่าในสมัยพุทธกาลภิกษุเมืองปาฐาจำนวน 30 รูป มีความประสงค์จะเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า ณ วัดพระเชตวันมหาวิหาร แต่ขณะเดินทางนั้นได้ใกล้วันจำพรรษา ภิกษุเหล่านั้น จึงหยุดจำพรรษาอยู่ที่เมืองสาเกตก่อน ครั้นออกพรรษาภิกษุทั้ง 30 รูป จึงรีบไปเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า แต่เนื่องจากระยะทางนั้นไกล และมีฝนตก จึงทำให้ผ้าสบงจีวรเปรอะเปื้อนโคลนเลน พระพุทธเจ้าทรงเห็นความลำบากของภิกษุ จึงมีพุทธบัญญัติให้ภิกษุแสวงหาผ้า และรับผ้ากฐินได้

ประเภทของกฐินแบ่งออกเป็น 2 ประเภทใหญ่ๆ คือ

กฐินหลวง คือ กฐินที่พระเจ้าแผ่นดินเสด็จพระราชดำเนินเพื่อทรงวางผ้าพระกฐินด้วยพระองค์เอง
กฐินราษฎร์ คือ กฐินที่ราษฎรหรือประชาชนผู้มีจิตศรัทธานำผ้ากฐินไปทอด ณ วัดต่างๆ ที่มิใช่วัดหลวง

ก่อนถึงวันงานบุญกฐิน เจ้าภาพหรือผู้ที่ต้องการจะถอดกฐินจะทำการจองกฐิน ครั้นถึงวันงานจะมีการแห่กฐินและนำไปทอด ณ วัดนั้นๆ




Homestay Baanbung Mukdahan

Homestay Baanbung Mukdahan

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.